ลำไย พืชไม้ผลเขตร้อน มีชื่อภาษาอังกฤษว่า Longan จัดอยู่ในวงศ์ Sapindaceae เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง นิยมปลูกในหลายประเทศ สำหรับประเทศจีนจะมีแหล่งปลูกขนาดใหญ่ที่ปลูกจำนวนมาก มีอยู่หลากหลายสายพันธุ์ด้วยกัน ลักษณะลำต้นทั่วไปจะมีสีน้ำตาล ผลทรงกลม มีรสชาติเนื้อหวานอร่อย อุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุต่าง ๆ ที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย
เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับ ลำไย ที่ปลูกในไทยมีสรรพคุณอย่างไรบ้าง
ลำไยเป็นผลไม้เพื่อสุขภาพอีกชนิดหนึ่งที่ได้รับความนิยมในการบริโภคอย่างมากในบ้านเรา หากินได้ง่ายแถมยังปลูกได้ตลอดทั้งปี จะปลูกไว้ขายหรือไว้ทานเองก็ได้ ราคาถือว่าค่อนข้างดี แถมยังมีสรรพคุณอีกมากมายที่มีช่วยในเรื่องต่างๆของร่างกายให้มีสุภาพที่ดี ทานได้ทั้งผู้ใหญ่และเด็กๆ มีรสชาติที่หวานกรอบอร่อย รับรองว่าทานแล้วจะติดใจ
ลำไยที่นิยมปลูกในไทย
ลำไยคือผลไม้ที่ปลูกได้ตลอดทั้งปี พันธุ์ที่นิยมปลูกในบ้านเราจะแบ่งออกเป็น 6 ชนิด มีดังต่อไปนี้
- ลำไยกะโหลก : จะให้ผลขนาดใหญ่ มีเนื้อหนารสชาติหวาน พันธุ์นี้จะมีสายพันธุ์ย่อยแบ่งออกมาอีก ได้แก่ ลำไยสีชมพู, ลำไยตลับนาค, ลำไยเบี้ยวเขียว, ลำไยอีแดง, ลำไยอีดอ, ลำไยอีดำ, ลำไยอีแห้ว, ลำไยอีเหลือง, ลำไยพวงทอง, ลำไยเพชรสาครทวาย, ลำไยปู่มาตีนโค้ง
- ลำไยกระดูกหรือลำไยพื้นเมือง : จะให้ผลขนาดเล็กแต่มีน้ำมาก เนื้อน้อยไม่ค่อยหวาน ทรงพุ่มกว้างใบหนาทึบ ปัจจุบันจะเหลือให้เห็นน้อยเพราะไม่ค่อยนิยมปลูก เนื่องจากไม่ค่อยมีราคา
- ลำไยกะลา : พันธุ์นี้ให้ผลดก มีผลขนาดปานกลาง เนื้อจะหนากว่าลำไยพันธุ์กระดูก มีรสชาติหวานเนื้อกรอบบาง มีน้ำมาก
- ลำไยสายน้ำผึ้ง : ลักษณะจะคล้ายกับลำไยธรรมดา แต่เนื้อมีสีเหลืองอ่อน มีเมล็ดที่เล็ก เนื้อมีรสหวานอร่อยหอมกรอบ
- ลำไยเถา : เป็นไม้ต้นรอเลื้อย ลำต้นจะไม่มีแก่นจึงพันเข้ากับรั้ว มีผลขนาดเล็ก เมล็ดจะมีขนาดโตกว่าลำไยบ้าน มีเนื้อน้อยเนื้อหุ้มเมล็ดบาง รสชาติมีกลิ่นคล้ายกำมะถันจึงนิยมปลูกไว้ประดับมากกว่า
- ลำไยขาว : ลำไยพันธุ์โบราณหายาก มีผลขนาดเล็กกว่าลำไยทั่วไป รสชาติหวานอร่อย เนื้อสีขาวใสมีเปลือกสีน้ำตาลอ่อน [1]
สรรพคุณของลำไยที่หลายท่านยังไม่เคยรู้
ลำไยผลไม้รสหวานที่มีข้อดีเพียบ มีสรรพคุณมากมาย ตั้งแต่ ใบ, ราก, ดอก, เนื้อ, เมล็ด รวมไปถึงเปลือก เมื่อรับประทานเข้าไปแล้วทำให้ส่งผลดีต่อสุขภาพ มีดังนี้
- ใบ : ช่วยรักษาในเรื่องของริดสีดวงทวาร แก้ไข้มาลาเรียหรือหากใครกำลังเป็นหวัด ก็สามารถนำใบลำไยมาต้มดื่ม เพื่อแก้หวัดได้
- ราก : ช่วยรักษาอาการช้ำใน แก้อาการตกขาว อีกทั้งยังช่วยขับพยาธิเส้นด้ายได้อีก
- ดอก : สามารถช่วยแก้โรคนิ่ว รวมไปถึงลดหนองได้
- เนื้อลำไย : ช่วยบำรุงประสาท รักษาอาการนอนไม่หลับ อาการขี้หลงขี้ลืม อีกทั้งยังช่วยบำรุงหัวใจ ส่วนใครที่มีปัญหาร่างกายอ่อนแอ ในตำรายาแพทย์แผนไทยได้บอกไว้ว่า ให้นำเนื้อลำไยมาดองกับเหล้าประมาณ 100 วัน แล้วทานครั้งละ 1-2 ช้อนโต๊ะ จะช่วยให้สุขภาพดีขึ้น เนื่องจากลำไยมีฤทธิ์เหมือนยาที่ช่วยบำรุงร่างกาย
- เมล็ด : ช่วยแก้ปวด, แก้ขับปัสสาวะ ให้นำเมล็ดที่แกะเปลือกสีดำออกแล้วมาทุบ จากนั้นให้นำไปต้มกิน
- เปลือก : สามารถแก้อาการมึน ทำให้ตาสว่างขึ้น อีกทั้งยังช่วยลดรอยแผลต่างๆที่เกิดจากน้ำลวกได้ [2]
ประโยชน์และโทษของลำไยที่ควรระวัง
ลำไยเป็นอีกหนึ่งผลไม้ไทยที่ทุกคนคุ้นเคยและรู้จักกันดี มีเนื้อขาวอมชมพูหรืออมเหลือง รสชาติหวานอร่อยที่ใครๆก็ชอบทาน แถมยังคุณค่าทางโภชนารวมไปถึงวิตามินต่างๆ อีกเพียบ ในการรับประทานผลนั้น ควรทานในปริมาณที่พอดี เพราะต่อให้จะมีประโยชน์ แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีผลกระทบตามมา เพราะฉะนั้นควรคำนึงถึงความปลอดภัยด้วย
ประโยชน์ของการรับประทานลำไย
ลำไยนอกจากจะมีสรรพคุณที่ช่วยรักษาโรคต่างๆ ยังมีประโยชน์ต่อร่างกายอีกมากมาย เชื่อได้ว่าหลายคนอาจยังไม่รู้ รับรองว่าส่งผลที่ดีต่อร่างกายอย่างแน่นอน จะช่วยในเรื่องของอะไรบ้างนั้น ไปดูกันเลย
- เติมความสดชื่นให้ร่างกาย เนื่องจากเป็นผลไม้รสหวานจึงมีคาร์โบไฮเดรตกับน้ำตาลซูโครส การดื่มน้ำลำไยช่วยเพิ่มความสดชื่นให้แก่ร่างกายได้ดี แถมรับประทานในยามว่างหรือใช้ในการประกอบอาหารต่างๆก็ได้ เช่น ข้าวเหนียวเปียกลำไย, ลำไยลอยแก้ว, วุ้นลำไย
- มีวิตามินซีที่มีส่วนช่วยในการบำรุงผิว รวมถึงมีสารต่อต้านอนุมูลอิสระที่มีประสิทธิภาพสูง ช่วยยับยั้งการสร้างเม็ดสีผิวเมลานิน จึงช่วยบำรุงผิวพรรณได้ อีกทั้งยังมีวิตามินบี 12 ที่ช่วยบำรุงสมอง รักษาอาการเครียดได้
- ช่วยย่อยอาหาร เพราะลำไยสามารถช่วยกระตุ้นให้น้ำย่อยในกระเพาะอาการทำงานได้ดี แถมยังมีส่วนช่วยในการดูดซึมแคลเซียม เพิ่มแบคทีเรียที่มีประโยชน์ อีกทั้งช่วยลดแบคทีเรียที่ไม่ดีได้อีกด้วย
- บำรุงร่างกาย เพราะลำไยมีแร่ธาตุ วิตามินและสารอาหารมากมายที่มีประโยชน์ สามารถช่วยบำรุงประสาท, บำรุงตา, รวมไปถึงการบำรุงหัวใจ
- รักษาอาการอัลไซเมอร์ เพราะในตำรายาจีนโบราณบอกเอาไว้ว่า การนำลำไยมาต้มกับโสม โดยให้ผู้สูงอายุหรือคนความจำไม่ดีดื่มนั้น สามารถช่วยรักษาอาการอัลไซเมอร์กับอาการขี้หลงขี้ลืมได้ เนื่องจากโสมจะช่วยผ่อนคลายอารมณ์ อีกทั้งยังช่วยกระตุ้นการทำงานของสมองได้นั่นเอง
- ป้องกันโรคโลหิตจางได้ เพราะสารอาหารในลำไยนั้น สามารถช่วยให้การไหลเวียนของเลือดได้ดี รวมถึงช่วยในเรื่องของการดูดซึมธาตุเหล็กดีขึ้น จึงมีส่วนช่วยป้องกันโรคโลหิตจางได้
- ช่วยกำจัดกลิ่นตัว โดยการนำเมล็ดลำไยกับพริกไทยมาบดเข้าด้วยกัน จากนั้นนำไปทารักแร้ จะสามารถช่วยกำจัดกลิ่นตัวได้ดี
- แก้ปวดจากข้ออักเสบ ในเมล็ดมีสารโพลีฟีนอลซึ่งสามารถป้องกันการเสื่อมสลายกับช่วยยืดอายุกระดูกอ่อนได้ยาวนานขึ้น จึงมีการนำสารสกัดจากเมล็ดลำไยมาทำยาทาช่วยบรรเทาอาการข้ออักเสบ ให้นำเมล็ดลำไยสดไปทุบให้พอแตก จากนั้นนำไปแช่กับเหล้าขาวทิ้งไว้ 7 วัน แล้วนำมาทาหัวเข่าที่อักเสบทุกวัน จนกว่าอาการอักเสบจะค่อยๆดีขึ้น [3]
ลำไยมีโทษที่ควรระวังอย่างไรบ้าง
เนื่องจากลำไยเป็นผลไม้ที่มีน้ำตาลสูง ดังนั้นเราจึงควรบริโภคลำไยในปริมาณที่พอเหมาะและควบคู่ไปกับผลไม้ชนิดอื่นด้วย ผู้ป่วยโรคเบาหวานควรระมัดระวังให้ดี โดยมีดังนี้
- ตามหลักโภชนาการแล้ว เราควรทานผลไม้ 4-5 ส่วนต่อวัน ทานผลไม้ที่มีความหลากหลาย ดังนั้นควรทานลำไยในปริมาณที่พอเหมาะ ถ้าผลลำไยสดให้ทาน 6-10 ผล แต่ถ้าลำไยอบแห้ง ควรทานเพียงครั้งละ 2-3 ผลเท่านั้น เพื่อให้ได้รับสารอาหารที่เพียงพอต่อร่างกาย
- ผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวานกับผู้ที่มีอาการอาหารไม่ย่อย เช่น ท้องอืด, ท้องเสีย, เจ็บคอ ควรหลีกเลี่ยงการทานผลลำไย เพราะต่อให้จะมีประโยชน์มากแค่ไหน แต่ก็มีรสชาติที่หวานจัด มีปริมาณน้ำตาลค่อนข้างสูง หากกินมากไปอาจส่งผลต่อระดับของน้ำตาลในเลือด ทำให้น้ำตาลในเลือดเพิ่มสูง อาจทำให้อาการของโรคเบาหวานรุนแรงขึ้นได้ [3]
สรุป การรับบริโภค ลำไย ที่เหมาะสมเพื่อสุขภาพที่ดี
ลำไย อุดมไปด้วยสารอาหารมากมายที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ หาซื้อทานได้ง่าย แถมยังสามารถนำไปแปรรูปหรือทำเมนูอร่อยๆ ได้อย่างหลากหลาย นอกจากเนื้อจะมีรสชาติที่หวานกรอบแล้ว การดื่มน้ำลำไยยังช่วยเพิ่มความสดชื่นให้แก่ร่างกาย ทานได้ทุกเพศทุกวัย แต่เด็กเล็กควรอยู่ในความดูแลของผู้ใหญ่ เนื่องจากลำไยมีเมล็ด อย่าปล่อยให้เด็กทานเองตามลำพัง เพราะอาจเกิดอันตรายได้
อ้างอิง
[1] wikipedia. (July 21, 2024). ลำไย. Retrieved from wikipedia
[2] food.trueid (April 10, 2023). ประโยชน์ของ ลำไย ผลไม้ไทยสุดอร่อย ที่มีคุณค่ามากกว่าความหวาน!. Retrieved from food.trueid
[3] warning.acfs. (July 27, 2022). ความรู้เรื่อง "ลำไย". Retrieved from warning.acfs